ข่าวประชาสัมพันธ์
โรคเปลี่ยนแปลงตลอด สปสช.ต้องอัพเดตให้ทัน ส่วน รพ.ต้องเข้าใจระบบตรวจสอบเบิกจ่าย
     แพทย์แนะ รพ.ต้องเข้าใจระบบตรวจสอบเบิกจ่าย ทำเวชระเบียนสมบูรณ์ช่วยบริหารไม่ให้ขาดทุนได้ ชี้โรคเปลี่ยนแปลงตลอด สปสช.ต้องอัพเดตข้อมูลเพื่อให้สอดรับกับการตรวจสอบ ขณะที่ รพ.ก็ต้องเข้าใจการทำเวชระเบียนให้สมบูรณ์และอยู่ในความเป็นจริง นพ.ธนาวุธ ลิ่มเล็ก นายแพทย์ชำนาญการอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลกระบี่ กล่าวถึงการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ว่า ระบบการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ในแต่ละกองทุนสุขภาพ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่เฉพาะการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการสามารถนำเงินค่ารักษาจากกองทุนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ มาบริหารโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการได้อย่างมีความเหมาะสม และสอดคล้องกับการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังพบว่าเกิดปัญหาในการตรวจสอบอยู่บ้าง เนื่องจากบุคลากรของโรงพยาบาล ทั้งแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการทำบันทึกเวชระเบียนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการบันทึก เพราะหลายครั้งที่เวชระเบียนไม่มีความสมบูรณ์ หรือการใช้ยาและวิธีรักษาที่มีราคาสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานการเบิกจ่ายแต่ละโรค ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามจำนวนค่าใช้จ่ายในการรักษาจริง นพ.ธนาวุธ กล่าวว่า ยกตัวอย่างหากมีการรักษาและต้องใช้ยาราคาสูงที่มีราคาเม็ดละ 800 บาท แต่โรคดังกล่าวตามกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุในมาตรฐานการรักษาว่าสามารถใช้ยาชนิดอื่นที่มีผลการรักษาได้ตรงตามโรค ซึ่งมีราคาถูกกว่าได้ และสามารถเบิกค่าชดเชยได้ตามมาตรฐาน ซึ่งไม่อาจเบิกได้ตามจริง ตรงนี้ทำให้แพทย์หลายคนไม่เข้าใจ เพราะกองทุนมีงบประมาณอย่างจำกัด ไม่สามารถทำให้เกิดการเบิกจ่ายตามจริงได้ “แต่ส่วนหนึ่งการตรวจสอบก็เพื่อให้แต่ละหน่วยบริการได้รับทราบว่ามีการบันทึกในเวชระเบียนอย่างถูกต้องหรือไม่ หรือมีความสมบูรณ์ด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน หากโรงพยาบาลนั้นๆ เข้าใจระบบและบันทึกเวชระเบียนอย่างสมบูรณ์ และรักษาตามค่าใช้จ่ายที่เป็นมาตรฐานกองทุน เงินชดเชยที่กลับมาก็จะช่วยให้การบริหารโรงพยาบาลไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะขาดทุน” นพ.ธนาวุธ กล่าว นพ.ธนาวุธ กล่าวอีกว่า ในแนวทางของอนาคตนั้น สปสช.ควรจะต้องมีการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องการวินิจฉัยโรคที่ต้องทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน รวมถึงสร้างความเข้าใจในการบันทึกเวชระเบียนซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินชดเชยทางการแพทย์อย่างสมบูรณ์ และปรับปรุงกองทุนงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยรายหัวให้สอดคล้องกับสถานการ์ปัจจุบันด้วย “เพราะโรคก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การอัพเดตข้อมูลเพื่อให้สอดรับกับการตรวจสอบจึงมีความสำคัญด้วย นอกจากนี้ โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการแต่ละแห่ง ก็ต้องเข้าใจการทำเวชระเบียนให้สมบูรณ์ และอยู่ในความเป็นจริง เพราะจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยบริหารโรงพยาบาลไม่ต้องประสบปัญหาขาดทุนได้” นพ.ธนาวุธ กล่าวทิ้งท้าย
วันที่  2017-05-05